เห็ดโคน: การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน


เห็ดโคน: การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน 
 ชีวิตของคนไทยในชนบทผูกพันกับเห็ดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนไปจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี เห็ดโคนจะออกมามากเป็นพิเศษ ซึ่งชาวบ้านจะหาเห็ดโคนมาขาย สนนราคาก็ราวๆ กิโลกรัมละ ๑๐๐-๓๐๐ บาท
เห็ดโคน.. มากับฝน  เห็ดโคน อาหารจานโปรด ผลิตผลจากป่าที่มากับฝนและความชุ่มชื้น ในเทือกเขาบูโด อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ในช่วงนี้ได้ สร้างรายได้ให้ชาวบ้านที่เก็บของป่าขาย กก.ละ 50 - 80 บาท หนึ่งปีมีครั้งเดียว  (ภาพโดย... จรูญ ทองนวล)
เห็ดโคนเมืองตาก ชาวบ้านในตำบลสมอโคน อ.บ้านตาก จ.ตาก เริ่มเก็บเห็ดโคนที่หามาได้ ในป่าชุมชนแม่สลิด-โป่งแดง มาวางขายริมถนนพหลโยธิน สายลำปาง-ตาก ได้รับความสนใจจากพ่อค้า ชาวบ้านทั้งในและต่างจังหวัดแวะซื้อหานำไปปรุงอาหารจานเด็ด สารพัดวิธี ทั้งดอง ตำน้ำพริก แหนม ต้มยำ ฯลฯ จนลือกันว่าเห็ดโคนเมืองตากรสชาติอร่อย แพงถึง กก.ละ 250 บาท ก็ยังซื้อหากันจนได้ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ บางวันมีรายได้กว่า 3,000-5,000 บาท (ภาพโดย...อรุณธวัฒน์ เป๋าสมบัติ)
ชาวกัมพูชานำเห็ดมาจำหน่ายที่ด่านช่องสะงำ : พ่อค้าแม่ค้าชาว อ.อัลลองเวง จ.อุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา นำเห็ดโคน เห็ดละโงกที่หาได้ตามพื้นที่ป่ามาจำหน่ายที่ตลาดชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ. ศรีสะเกษ  ซึ่งแต่ละวันจะนำเห็ดมาจำหน่ายไม่ต่ำกว่าวันละ 20-30 กิโลกรัมๆ ละ 20-25 บาท สร้างรายได้ให้กับชาวกัมพูชาในช่วงนี้ ซึ่งเมื่อจำหน่ายในบ้านเรา มีราคาสูงกว่าหลายเท่าตัว
ฤดูเห็ดโคน : ชาวบ้านในภาคอีสาน จ.อุบลราชธานี เก็บเห็ดโคนจากป่านำมาขาย กก.ละ 150-300 บาท  เป็นที่ต้อง
การของคนทั่วไป เนื่องจากมีรสชาติดีและเป็นอาหารตามฤดูกาลของชาวอีสาน  (ภาพโดย - ศิริลักษณ์ สอนอาจ)
เห็ดโคน  จากคำบอกเล่าของ ... นาย โชคธำรงค์ จงจอหอ
นักศึกษาคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
กิจกรรมจากค่ายเรียนรู้คุณธรรม นำชีวิตพอเพียงที่กระผมได้เรียนรู้มา คือ การศึกษาในประเด็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของคนในชุมชนรางบัว ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
ในลำดับแรกต้องขออธิบายถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ของชมชนแห่งนี้โดยสังเขปก่อนนะครับ ชุมชนรางบัวเป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่ ติดกับเขาสนซึ่งเป็นป่าเบญจพรรณ มีไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ยาง และป่าไผ่ ซึ่งเขาสนตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของชุมชน บริเวณตีนเขาเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตราชบุรี สภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย มีลำรางขนาดเล็กไหลผ่านชุมชน แต่ก่อนเคยมีการอนุญาตสัมปทานเหมืองแร่ในบริเวณเชิงเขาสน
โดยทั่วไปชาวบ้านจะทำนา ทำไร่ และเลี้ยงโคขุน รวมทั้งหาของป่าซึ่งประเด็นสำคัญในการหาของป่าก็อยู่ที่ "เห็ด" นี่ละครับ
ชีวิตของคนในชุมชนบ้านรางบัวผูกพันกับเห็ดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี เห็ดโคนจะออกมาเป็นพิเศษ ซึ่งชาวบ้านจะหาเห็ดโคนมาขาย สนนราคาก็ราวๆ กิโลกรัมละ ๑๐๐ บาท กอปรกับในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงเทศกาลกินเจทำให้ความต้องการบริโภคเห็ดมีสูง จึงช่วยส่งผลให้ชาวบ้านในรางบัวมีรายได้มาหล่อเลี้ยงครอบครัวเพิ่มเติม นอกจากนี้ในช่วงอื่นๆ ที่มีฝนตกชุกและแดดจัดตามมา เห็ดก็จะออกดอกเช่นกัน
อุปกรณ์หาเห็ดของชาวบ้าน ได้แก่ ไฟฉาย แบตเตอรี่ ถุงปุ๋ย มีด และไม้ยาวๆไว้เขี่ยเห็ด โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านจะหาเห็ดในช่วงเช้ามืด เวลาเริ่มหาตั้งแต่ ตีสองเป็นต้นไป ซึ่งประเด็นความขัดแย้งเล็กๆในชุมชนเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ คือ พื้นที่ป่าดั้งเดิมที่ชาวรางบัวสามารถเข้าไปหาเห็ดได้นั้น บัดนี้กลับกลายเป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยรัฐไปเสียแล้ว
ฟังดูคล้ายกับชาวบ้านรางบัวจะไร้ทางออก หากแต่ในทางปฏิบัตินั้น หน่วยงานของรัฐยังคงอะลุ่มอล่วยให้คนในชุมชนสามารถเข้าไปหาเห็ดได้ตามสมควร แต่อาจจะต้องหาเห็ดอย่างลับๆ หรือไม่เป็นทางการนั่นเอง
...... นี่ไม่ใช่วิถีชีวิตของคนไทยในชนบทที่ราชบุรีแห่งเดียว  แต่ไม่ว่า ภาคเหนือ  ตะวันตก กลาง  อีสาน ตะวันออก หรือแม้แต่ภาคใต้  ก็รู้จักและใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่กันอย่างคุ้มค่า.. อร่อยลิ้น .... เมื่อยามฤดูฝนก้าวเข้ามาของทุกปี .......
  
 
เห็ดโคนตาก  ชาวบ้านใน ต.สมอโคน อ.เมือง จ.ตาก มีรายได้จากการเก็บเห็ดโคนป่านำวางขาย ริมถนนทางหลวง สายตาก-ลำปาง และ ตาก-สุโขทัย สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ขณะที่สาธารณสุขตาก เตือนแล้วเห็ดป่าแปลก ไม่รู้จักคุ้นเคย ห้ามรับประทาน อาจมีพิษถึงตายได้  (ภาพโดย...อรุณธวัฒน์ เป๋าสมบัติ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น