“เผาถ่าน” อาชีพทำเงินแบบสบาย ของ“ลุงใหญ่”
โครงการจัดทำแผนพลังงาน 80 ชุมชนฯ กระทรวงพลังงาน
ลุงใหญ่ หรือ ลุงสุดใจ ตั่นนง เป็นนักเผาถ่านมืออาชีพ ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวด้วยอาชีพนี้มายาวนานกว่า 30 ปี กิจการเผาถ่านของลุงค่อนข้างเป็นล่ำเป็นสันมากทีเดียว เพราะลุงมีเตาเผาถ่านเกือบ 20 เตา แต่ละเตาใช้ไม้ประมาณ 10 ตัน ลุงจึงต้องจ้างลูกน้องอีก 6 คน มาช่วยทำงาน ถึงแม้การเผาถ่านจะทำเงินให้เป็นกอบเป็นกำ เมื่อถึงวันที่วัยล่วงเข้าสู่วัยชรา การควบคุมดูแลกิจการเผาถ่านจึงเป็นภารกิจที่หนักหนา อีกทั้งต้นทุนก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ลุงใหญ่จึงตัดใจเลิกกิจการไปในที่สุด แต่ปัจจุบันลุงใหญ่กลับมา “เผาถ่าน” อีกครั้ง ด้วยเตาเผาถ่าน 10 เตา โดยมีลูกชายเป็นผู้ช่วยเพียงคนเดียวเท่านั้น เพราะ “เตาเผาถ่าน 200 ลิตรประสิทธิภาพสูง ทำให้การเผาถ่านของลุงเป็นเรื่องง่ายๆ สบายๆ…
“เมื่อก่อนลุงเผาถ่านโดยใช้เตาลาน หรือเตาหลุมแบบพื้นบ้าน มีประมาณเกือบ 20 เตา เตาหนึ่งจุไม้ได้ 10 ตัน วันหนึ่งเผาประมาณ 2-3 รอบ ต้องจ้างลูกน้องมาช่วยงานประมาณ 6 คนๆ หนึ่งรับผิดชอบ 3 เตา ในเดือนหนึ่งๆ เงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท ลูกน้องแต่ละคนมีรายได้ไม่กว่า 8,000 บาท พอมาระยะหลังๆ ราคาไม้ปีกที่เรารับจากโรงงานมาเผาขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ จาก กิโลกรัมละ 10 สตางค์ ขึ้นมาเรื่อยๆ ถึง 30 สตางค์ ก็เลยคิดว่าไม่คุ้มกับการลุงทุน เพราะเราต้องจ้าง ไม่จ้างก็ไม่ไหวเพราะงานหนักมากก็เลยเลิก...” ลุงใหญ่ เจ้าของเตาเผาถ่านเจ้าใหญ่รายใหญ่ในตำบลนาท่ามเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เผยถึงเหตุผลที่ทำให้ลุงต้องเลิกกิจการเผาถ่านที่เป็นอาชีพ “ทำเงิน” ให้กับครอบครัวไปเมื่อสาม-สี่ปีก่อน
เมื่อคิดว่าจะไม่กลับมาเผาถ่านอีกแล้ว นักเผาถ่านอาวุโสจึงเตรียมปรับพื้นที่บริเวณเตาเผาถ่านเดิมเพื่อปลูกยางพารา แต่ยังไม่ทันได้ลงมือลุงใหญ่ได้เปลี่ยนใจกลับมาเผาถ่านอีกครั้ง หลังจากที่ได้มีโอกาสไปไปศึกษาดูงานที่ร่วมกับแกนนำชุมชนคนอื่นๆ
“ตอนนั้นชุมชนได้รับคัดเลือกให้เป็นชุมชนนำร่องในโครงการวางแผนจัดการพลังงานชุมชน พลังงานจังหวัดจัดให้ผู้นำไปดูงานที่อาศรมพลังงาน ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ลุงเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเขาก็มาบอกให้ไปลุงก็ไป ไม่ได้คิดว่าไปแล้วจะได้ประโยชน์อะไรมากนัก คิดว่าไปเที่ยวพอไปถึงเขาก็ให้ไปดูกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานหลายอย่างซึ่งมีเตาเผาถ่านด้วย ตอนแรกผมสนใจเตาเผาถ่าน อิวาเตะ ของญี่ปุ่น แต่ว่าพอดูแล้วต้องลงทุนมาก ทั้งทุน ทั้งเวลา และมีความยุ่งยากพอสมควร ในขณะที่เตาเผาถ่าน 200 ลิตรประสิทธิภาพสูงทำง่ายกว่า ลงทุนน้อยกว่า ตอนกลับมาคิดว่าจะลองทำซัก 1 เตา...” ลุงใหญ่ เล่าให้ฟังขำๆ
พอลงมือทำแล้วลุงใหญ่ก็พบว่า เตาเผาถ่าน 200 ลิตรแบบใหม่นี้ทำให้การเผาถ่านของลุง “ง่าย” กว่าเดิมอย่างมาก ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานหลายคน ปริมาณถ่านที่ได้ก็มากกว่า เพราะการเผาถ่านด้วยเตาลานแบบเดิมหากใช้ไม้ 1 ตัน จะได้ถ่านประมาณ 150 กิโลกรัม แต่เผาด้วยเตาเผาถ่าน 200 ลิตร แบบใหม่จะได้ถ่านประมาณ 250 กิโลกรัม จาก 1 เตา อีกทั้งมีข้อดีคือไม่จำเป็นต้องใช้ไม้ขนาดใหญ่ ลุงใหญ่จึงขยายเพิ่มเป็น 10 เตา…
“เตาของลุงที่เห็นอยู่นี่ ปรับปรุงจากแบบเดิมที่ทางพลังงานเขาให้มานะ...” ลุงใหญ่บอกด้วยความภาคภูมิใจ พร้อมทั้งพาเดินชมเตาเผาถ่านที่เรียงอยู่ภายใต้โรงเรือนชั่วคราว
ทั้งนี้เนื่องจากเตาเผาถ่าน 200 ลิตร ประสิทธิภาพสูงตามแบบมาตรฐานจะใช้ถังน้ำมันซึ่งมีความยาว 120 เซนติเมตร แต่ความยาวของไม้ปีกที่สั่งมาจากโรงงานเป็นวัสดุเผาถ่าน มีขนาดยาวกว่าเตาถ่านประมาณ 30 เซนติเมตร ทำให้ลุงใหญ่ต้องตัดไม้ให้พอดีกับความยาวของเตาซึ่งต้องใช้เวลาในการตัดประมาณ 1-2 วัน ทำให้เสียเวลา และเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ลุงใหญ่จึงนำถังน้ำมันมาตัดและเชื่อมต่อทำให้เตามีขนาดยาวพอดีกับขนาดไม้ ปัญหาก็จะหมดไป ใช้เงินลงทุนอีก 1,000 บาท เท่านั้นถือว่าคุ้มค่ามาก อย่างไรก็ตามการต่อเติมถังน้ำมันไม่ควรให้ยาวเกินกว่านี้ เพราะจะทำให้กระบวนการจากไม้กลายเป็นถ่านไม่มีประสิทธิภาพตามที่ต้องการ
นอกจากการปรับปรุงตัวเตาแล้วผู้อาวุโสแห่งชุมชนนาท่ามเหนือยังได้ปรับปรุงอิฐบล็อกที่ใช้ปิดหน้าเตาซึ่งเดิมจะเกิดการเปราะและแตกหักง่าย โดยการใช้ปูนโบกทับให้แข็งแรงขึ้น โดยลุงให้ข้อคิดว่า ความรู้ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือต่างๆ ที่รับมาจากหน่วยงาน แม้จะได้รับการพิสูจน์ผลมาแล้ว แต่ในการนำมาใช้ ผู้ใช้ต้องรู้จักสังเกต และรู้จักประยุกต์พัฒนาให้เหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตจริง
“ที่เห็น 10 เตานี่ลุงทำเอง มีลูกชายมาช่วยบ้าง เดือนๆ หนึ่งๆ มีรายได้อย่างน้อยหมื่นกว่าบาท อันที่จริงถ้าหากมีเวลาจะทำได้มากกว่านี้ความต้องการมีอีกมาก เผาได้เท่าไหร่ก็ขายได้หมด...” ลุงใหญ่ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
การที่ลุงใหญ่ “ไม่มีเวลา” เป็นเพราะปัจจุบันลุงใหญ่ต้องไปช่วยงานพลังงานจังหวัด ในฐานะ “วิทยากรตัวคูณด้านพลังงาน” ในการฝึกอบรมการทำเตาเผาถ่าน 200 ลิตรประสิทธิภาพสูงให้กับชาวบ้านทั้งในพื้นที่ตำบลนาท่ามเหนือ และที่อื่นๆ อยู่เรื่อยๆ แต่ภารกิจที่เพิ่มเติมเข้ามานี้เป็นสิ่งที่ผู้อาวุโสผู้นี้มีความยินดี ด้วยลุงเห็นว่า เป็นความรู้ที่มีประโยชน์กับชาวบ้านอย่างแท้จริงนั่นเอง
“ถือเป็นวิทยาทานสำหรับลูกหลาน” ลุงใหญ่บอกพร้อมกับยิ้มอย่างใจดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น