ชาวบ้านบางติบ ค้นพบวิธีเพาะ “ว่านหางช้าง”


ชาวบ้านบางติบ ค้นพบวิธีเพาะ “ว่านหางช้าง” 

กล้วยไม้หายาก ต้นละ 500  บาท
งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


“ว่านหางช้าง" หรือ "กล้วยไม้เพชรหึง" เป็นกล้วยไม้เฉพาะถิ่นของจังหวัดพังงา และระนอง  ลำต้นมีความยาวประมาณ 2 เมตร มีใบเรียวยาวขนาดเล็ก ดอกเป็นพวงประมาณ 120 -170 ดอก มีสีเหลืองลายจุดม่วงเม็ดมะปราง สนนราคาในท้องตลาดอยู่ที่ต้นละ 500  บาท หากกอใหญ่ และดอกสวยซื้อขายกันราคาไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท

                        ราคาที่สูงลิบขนาดนี้เป็นเพราะความโดดเด่นของลำต้นที่สูงยาวสีเหลืองเปรียบเสมือนทอง คนจึงนิยมนำมาปลูกเพื่อเสริมโชคลาภ และความสง่างามให้แก่เจ้าของบ้าน โดยเฉพาะชาวฮ่องกงนิยมปลูกเป็นไม้มงคล และใช้ปรับฮวงจุ้ยตามความเชื่อของชาวจีน นอกจากความโดดเด่นสวยงามแล้ว ว่านหางช้างยังมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง อีกด้วย และที่สำคัญ คือ เป็นว่านหายาก

ที่ผ่านมาในแวดวงนักเล่นกล้วยไม้เองพยายามเพาะเนื้อเยื่อในห้องทดลอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นกล้วยไม้ขนาดใหญ่ ต้องใช้เวลาประมาณ  5-7 ปี ในการเจริญเติบจนกระทั่งเป็นกอที่มีขนาด 12 -19 หน่อ จึงไม่ทันต่อความต้องการของตลาด ชาวบ้านจึงใช้วิธีการเก็บจากป่าออกมาขาย ซึ่งธรรมชาติของกล้วยไม้ชนิดนี้ชอบขึ้นบนยอดไม้สูงในป่าคล้าย ๆ กาฝาก จึงทำให้มีการเก็บแบบผิดวิธีคือการโค่นไม้ใหญ่ลงมา บางครั้งต้องโค่นไม้ใหญ่ขนาดหลายคนโอบเพื่อเอาว่านหางช้างเพียงกอเดียว

ปัญหาเหล่านี้ สมพงษ์ ประสานการชาวบ้านบางติบ อำเภอคุระบุรีจังหวัดพังงามองว่าหากปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นต่อไป อาจมีผลกระทบต่อธรรมชาติชนิดอื่นโดยเฉพาะการเก็บแบบผิดวิธีอาจทำให้ป่าหมดลง และจะเป็นผลกระทบต่อระบบนิเวศธรรมชาติของป่าชายเลน

“ว่านหางช้างที่มีอยู่ในบ้านบางติบมี 2 ชนิด คือ ว่านหางช้างเขาและว่านหางช้างเล (ทะเล) แต่ตอนนี้ทั้ง 2 ชนิดนี้กำลังจะหมดไป เพราะมีการลักลอบเก็บออกมาขาย ขณะเดียวกันธรรมชาติก็ไม่สามารถฟื้นตัวเองกลับคืนมาได้ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการเจริญเติบโตค่อนข้างนาน และมันต้องขึ้นบนต้นไม้ใหญ่ และตอนนี้ไม่ใหญ่ก็เกือบหมดจากป่า สมพงษ์เล่าถึงสาเหตุที่ทำให้ว่านหางช้างต้องเกือบหมดไปจากป่า

สมพงษ์ ได้ร่วมกับชาวบ้านใกล้เคียงและกลุ่มผู้ชื่นชอบว่านหางช้าง และมีใจอนุรักษ์  พยายามลดการนำกล้วยไม้ออกจากป่า  ด้วยการหาวิธีการเพาะขยายที่ไม่ซับช้อนยุ่งยาก ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่สร้างภาระต้นทุนและขีดความสามารถของชาวบ้าน ภายใต้โครงการวิจัย ศึกษาการเพาะกล้วยไม้ว่านหางช้างด้วยเทคโนโลยีชาวบ้าน เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนบ้านบางติบ อ.คุระบุรี จังหวัดพังงา โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค  ซึ่งมี สมพงษ์ ประสานการ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย

ตอนแรกมีคนลองขยายพันธุ์แบบเพาะเนื้อเยื่อแต่ก็ไม่ได้ผล เพราะมีต้นทุนสูง  และใช้เวลานาน อีกอย่างพวกเราก็ไม่มีความรู้มากนัก เลยรวมกลุ่มคนปลูกกล้วยไม้ พยายามทบทวนและหาทางแก้ปัญหากันมาโดยตลอด  และผลของการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงว่านหางช้างกับกลุ่มคนที่ปลูกเหมือน ๆ กัน ก็เห็นว่าแต่ละคนก็มีความรู้ด้านการปลูกที่แตกต่างกัน เลยคิดว่าน่าจะลองรวบรวมเอาภูมิปัญญาหรือเทคโนโลยีแบบของชาวบ้านมาทำการศึกษาดูว่า วิธีการปลูกแบบไหนจะได้ผลมากที่สุด เพราะแต่ละบ้านก็มีเทคนิควิธีที่แตกต่างกัน 

โครงการนี้จึงกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ที่การศึกษาองค์ความรู้การเพาะขยายพันธุ์กล้วยไม้ว่านหางช้างด้วยเทคโนโลยีชาวบ้าน ศึกษาชนิดวัสดุเพาะและการใส่ปุ๋ย (ชนิด และปริมาณ) ที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต โดยเริ่มจากทีมวิจัยชาวบ้านได้ตระเวนเก็บตัวอย่าง และข้อมูลการปลูกกล้วยไม้ของชาวบ้านในแถบนั้น และก็กลับมาทำเป็น กระถางทดลอง ที่บ้านหัวหน้าโครงการวิจัย

                        เราทดลองปลูกทั้งหมด 80 กระถาง ใช้ถังซีเมนประมาณ 40 กระถาง ที่เหลือเป็นกระถางหรือเข่งพลาสติก สำหรับวัสดุที่ใช้ปลูกก็แตกต่างกันออกไป ใส่ปุ๋ยบ้าง ใส่กาบมะพร้าว ถ่าน เศษใม้  ใบหญ้า ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ใส่ผสม ๆ กันเพื่อให้ได้สูตรและปริมาณที่ทำให้กล้วยไม้เจริญเติบโตดี 

และจากการทดลองของทีมวิจัยชาวบ้านเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี พบว่า วัสดุที่ใช้ปลูกว่านหางช้างที่ได้ผลที่ที่สุดคือ ไม้ กาบมะพร้าว และถ่าน และก็ยังพบอีกว่า ปลูกในถังซีเมนจะเติบโตดีกว่าปลูกในกระถางที่เป็นพลาสติก ซึ่งในระยะ 2  3 เดือนแรกจะมีเส้นรอบวง 6 เซนติเมตร และจะเจริญเติบโตไปจนถึงเส้นผ่าศูนย์กลาง 18 เซนติเมตร จากนั้นก็จะสูงขึ้นเดือนละประมาณ 10 เซนติเมตร และนอกจากนั้นยังสามารถแตกหน่อได้ไม่น้อยกว่า 12 - 20 หน่อ / กอ  ซึ่งผลของกระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้สามารถพัฒนาการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ว่านหางช้างเป็นสินค้าเศรษฐกิจชุมชนบ้านบางติบ และสามารถนำไปขยายผลทางสังคมเกิดการจัดการหยุดหาเก็บจากป่า

ซึ่งผลสำเร็จของโครงการนี้ไม่ใช่แค่การได้สูตรการเพาะขยายพันธุ์กล้วยไม้เท่านั้น หากยังเป็นกิจกรรมที่ทำให้ชาวบ้านรวมตัวเพื่อทำงานร่วมกัน ตลอดจนนำความรู้ที่ได้จากกระบวนการวิจัยไปเป็นหลักสูตรของโรงเรียน และเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้อีกด้วย

และเมื่อโครงการสิ้นสุดลง และได้กล้วยไม้ในปริมาณที่มากพอก็จะตัดแบ่งให้คนในชุมชนเอาไปปลูกขยายพันธุ์เพื่อขายเป็นรายได้เสริมเป็นการลดการนำกล้วยไม้ออกมาจากป่า และเมื่อมีการเพาะขยายได้มากขึ้น  ก็จะนำกล้วยไม้ชนิดนี้คืนสู่ป่า ซึงนั่นเป็นความหวังสูงสุดของคนบ้านบางติบ


+++++++++++++++++++++++++++





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น