การปลูกมะเขือเทศ


การปลูกมะเขือเทศ

การเพาะปลูก การปลูกมะเขือเทศ



มะเขือเทศสามารถเจริญเติบโตทางด้านลำต้น ใบ และออกดอกได้ดีตลอดทั้งปี แต่การติดผลของมะเขือเทศต้องการสภาพอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิกลางวันที่เหมาะสมอยู่ที่ระหว่าง 25 - 30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิกลางคืนประมาณ 16 - 20 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิกลางคืนสูงกว่า 22 องศาเซลเซียส จะทำให้มะเขือเทศไม่ติดผลหรือติดผลได้น้อยมาก ฝนและความชื้นสูงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้โรคทางใบและทางรากระบาดรุนแรง ดังนั้นฤดูปลูกที่เหมาะสมที่สุดจึงอยู่ในช่วงฤดูหนาว โดยมีช่วงหยอดเมล็ดเพาะกล้าอยู่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ซึ่งนอกจากสภาพอากาศจะเหมาะสมต่อการติดผล ทำให้ได้ผลผลิตสูงแล้วยังมีศัตรูพืชรบกวนน้อย ต้นทุนการผลิตจึงต่ำกว่าการปลูกในฤดูอื่นด้วย 

การปลูกทำได้ 2 วิธี

1. เพาะกล้าแล้วย้ายปลูก โดยเตรียมแปลงกล้าอย่างประณีต ยกแปลงสูงประมาณ 1 คืบ นำปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักมาคลุกเคล้าประมาณ 1 - 2 บุ้งกี๋ ต่อ 1 ตารางเมตร ใช้เมล็ดประมาณ 30 - 40 กรัม หยอดลงบนแปลงยาว 10 เมตร กว้าง 1 เมตร จะได้ต้นกล้าพอสำหรับปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ การหยอดเมล็ด ควรหยอดเป็นแถวห่างกันประมาณ 10 ซม. ลึกไม่เกิน 1 ซม. เมื่อหยอดเมล็ดแล้วกลบด้วยดินผสมปุ๋ยหมัก และคลุมแปลงด้วยฟางข้าว หรือ หญ้าแห้งบางๆ ในช่วง 3 วันแรก รดน้ำสม่ำเสมออย่าให้ผิวหน้าดินแห้ง และถ้าแดดจัดหรือฝนตกหนักต้องคลุมแปลงด้วยผ้าไนล่อนหรือผ้าพลาสติก เพื่อป้องกันเม็ดฝนกระแทกลำต้นหรือใบเป็นรอยซ้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย โรคที่สำคัญในแปลงกล้า คือ โรคโคนเน่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝนตกติดต่อกัน ความชื้นในอากาศและที่ผิวดินสูง ป้องกันโดยนำเศษฟางหรือหญ้าที่ใช้คลุมแปลงออกให้หมด เพื่อให้แปลงกล้าโปร่งและการระบายอากาศดี แล้วฉีดพ่นด้วยยากันรา ในช่วงที่กล้ามะเขือเทศอายุประมาณ 17 - 22 วัน ควรลดปริมาณน้ำที่ให้ลง และให้กล้าได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ ต้นกล้าจะแข้งแรง เหนียว ไม่อวบฉ่ำน้ำ ซึ่งมีผลให้กล้ารอดตายมาก หลังจากย้ายกล้า โดยทั่วไปการย้ายกล้าลงแปลงปลูกมักจะใช้กล้าอายุประมาณ 21 - 25 วัน หลังจากหยอดเมล็ดหรือเมื่อกล้ามีใบจริง 3 - 4 ใบ

2. หยอดเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรง ใช้ในกรณีที่สามารถให้น้ำได้ง่าย แต่จะเสียเวลาและแรงงาน ในการดูแลรักษามากกว่า อีกทั้งต้องใช้เมล็ดพันธุ์มากขึ้นเป็น 80 - 100 กรัม ต่อไร่ สำหรับระยะปลูกที่เหมาะสม ควรใช้ระยะระหว่างแถว 1 เมตร ระยะระหว่างต้น 25 - 50 ซม. ปลูก 1 ต้น ต่อ หลุม ถ้าใช้ระยะปลูกแคบจะได้ผลผลิตต่อ พื้นที่มากขึ้น แต่การควบคุมโรคและการปฏิบัติงานอื่น จะยุ่งยากขึ้นด้วย ในฤดูแล้งควรปลูกถี่ ส่วนในฤดูฝนควรใช้ระยะปลูกห่าง เนื่องจากมะเขือเทศเจริญเติบโตดี มีทรงพุ่มสูงใหญ่กว่าฤดูอื่นๆ

การปฏิบัติดูแลรักษา

- การคลุมแปลงปลูกด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง เพื่อรักษาความชื้นของดินและเป็นการป้องกันการชะล้างผิวหน้าดินเมื่อฝนตก หรือให้น้ำ นอกจากนี้ยังช่วยลดเปอร์เซ็นต์ผลเน่าและการระบาดของโรคทางใบ ซึ่งจะช่วยให้ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20 - 40 % แต่ฟางมักจะมีเชื้อราสเคอโรเตี่ยมติดมาด้วย ทำให้เกิดโรคเหี่ยวต้นแห้งตายไป การคลุมฟางจึงควรคลุมให้ห่างโคนต้น เพื่อไม่ให้โคนต้นมีความชื้นสูงเกินไป

- การกำจัดวัชพืช ใช้สารเคมีชื่อ เมตริบูซิน หรือชื่อการค้าว่า เซงคอร์ อัตรา 80 - 120 กรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) หรือ 115 - 170 กรัม สารเซงคอร์ 70 % ต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่ ฉีดหลังจากย้ายกล้า ขณะที่ดินมีความชื้นอยู่ จะสามารถควบคุมวัชพืชใบแคบและใบกว้างบางชนิดได้ แต่ถ้ามีการพรวนดิน พูนโคนหลังจากใส่ปุ๋ยที่อายุ 20 และ 40 วัน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีควบคุมวัชพืช

- การใส่ปุ๋ย

1. ปุ๋ยรองพื้น ใช้ปุ๋ย 15 - 15 - 15 อัตรา 30 กก./ไร่ รองก้นหลุมพร้อมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 2,000 กก./ไร่ และโบแรกซ์ 4 กก./ไร่

2. ปุ๋ยแต่งหน้าที่อายุ 7 - 10 วัน หลังจากย้ายปลูก ใช้ปุ๋ย 46 - 0 - 0 หรือ 21 - 0 - 0 อัตรา 10 หรือ 20 กก./ไร่ ถ้าเปลี่ยนแปลงปลูกที่เคยปลูกผักกินใบ เช่น ผักชี มาก่อนควรใช้ปุ๋ย 13 - 13 - 21 แทน

3. ปุ๋ยแต่งหน้าที่อายุ 21 - 25 วัน หลังจากย้ายปลูก ใช้ปุ๋ย 15 - 15 - 15 อัตรา 30 กก./ไร่

4. ปุ๋ยแต่งหน้าที่อายุ 40 วัน หลังจากย้ายปลูก ใช้ปุ๋ย 13 - 13 - 21 อัตรา 30 กก./ไร่

5. ปุ๋ยแต่งหน้าที่อายุ 60 วัน หลังจากย้ายปลูก ใช้ปุ๋ยชนิดและอัตราเดียวกับครั้งที่ 4 แต่ถ้าสภาพต้นมะเขือเทศค่อนข้างโทรมมีผลน้อยก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยครั้งที่ 5

ในสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม เช่น ร้อนเกินไปหรือมีฝนตกบ่อย ทำให้ต้นมะเขือเทศไม่ค่อยสมบูรณ์ หรือมีอาการเฝือใบ อาจช่วยได้โดยการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบสูตรต่างๆ ตามระยะการเจริญเติบโต เช่น ในระยะยังไม่ออกดอกอาจใช้ปุ๋ยใบสูตรเสมอ เช่น 25 - 25 - 25 ส่วนในระยะออกดอกแล้วควรใช้ปุ๋ยใบที่มีฟอสฟอรัส และ โปแตสเซียมสูง เช่น 10 - 23 - 20 หรือ 10 - 30 - 20 เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปุ๋ยใบที่มีธาตุอาหารรอง หลายชนิดอยู่ด้วย เช่น แมงกานีส เหล็ก สังกะสี โบรอน จะช่วยให้ต้นมะเขือเทศสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

- การให้น้ำ ระยะที่มะเขือเทศต้องการน้ำมากคือ ช่วงแรกของการเติบโตและช่วงที่ผลกำลังขยายขนาด (ประมาณ 35 - 50 วัน หลังจากย้ายกล้า) สำหรับช่วงที่กำลังติดผล (20 -35 วัน) ไม่ต้องการน้ำมากนัก แต่ต้องการการพรวนดิน เพื่อให้รากเจริญเติบโตลงไปได้ลึก และรากกระจายทางด้านข้างได้สะดวก

- การปักค้าง มีความจำเป็นมากเมื่อปลูกมะเขือเทศในฤดูฝน หรือ ปลูกด้วยพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตแบบเลื้อย การปักค้างแบบค้างเดี๋ยวหรือแบบกระโจม จะช่วยให้ผลผลิตของมะเขือเทศสูงขึ้นกว่าการไม่ปักค้าง 20 % และทำให้การฉีดยาป้องกันศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว และการปฏิบัติงานอื่นๆ ในแปลงสะดวกขึ้น นอกจากปักค้างแล้วต้องหมั่นผูกต้นมะเขือเทศติดกับค้างด้วย มิฉะนั้นแขนงที่เกิดใหม่จะเจริญเติบโตทอดไปกับดินทำให้ผลเน่าเสียหายได้

- การป้องกันกำจัดโรคที่สำคัญ โรคที่สำคัญ ได้แก่

1. โรคใบไหม้ เนื่องจากเชื้อ Alternaria และ Cercospora ระบาดเร็วมากเมื่ออุณหภูมิและความชื้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝนที่มีฝนตกติดต่อกันหลายวัน การเด็ดใบด้านล่างที่เป็นโรคทิ้งจะช่วยให้การระบาดของโรคช้าลง

2. โรคใบหงิกจากเชื้อไวรัส เกิดได้ทุกฤดูโดยมีแมลงหวี่ขาว และ เพลี้ยอ่อนเป็นพาหนะนำเชื้อ

3. โรคเหี่ยวเนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย มะเขือเทศเหี่ยวตายอย่างรวดเร็วขณะที่ลำต้นใบ ยังเขียวอยู่ไม่มียาป้องกันต้องใช้พันธุ์ต้านทานเท่านั้น ถ้าพบต้นเป็นโรคควรถอนทิ้งเผาไฟทันที

4. โรคเหี่ยวจากเชื้อสเคอโรเตี่ยม เกิดมากเมื่อดินมีความชื้นสูง จะพบราสีขาวทำลายผิวส่วนโคนต้นที่ติดกับดิน และในระยะต่อมาจะเห็นสปอร์คล้ายเมล็ดผักกาดที่โคนต้น การป้องกันใช้สารเคมีชื่อ ไวตาแวกส์ราด หรือ ใช้ปูนขาวประมาณครึ่งกำมือหรือใช้เชื้อราไตรโคเดอร่า โรยชิดโคนต้น

การป้องกันและกำจัดโรคราโดยใช้สารเคมีมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

1. ขณะที่ยังไม่เกิดโรคควรฉีดยาป้องกันทุกๆ 7 - 10 วัน โดยใช้สารเคมีพื้นๆ เช่น แคปแทน , ไดเทนเอม45 , คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ , คูปราวิท

2. เมื่อเริ่มเกิดอาการโรคระบาดจนเห็นได้แล้วควรใช้สารเคมี ประเภทดูดซึม เช่น เบนเลท โอดี , บาวีซาน , รอฟรัล , ดาโคนิล แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง จะทำให้เชื้อโรคดื้อยาได้ง่าย

- การป้องกันกำจัดแมลงที่สำคัญ แมลงที่สำคัญ คือ

หนอนเจาะผล ต้องกำจัดตั้งแต่หนอนยังมีขนาดเล็กก่อนที่จะเจาะทำลายเข้าไปในผล โดย สังเกตจากไข่หนอนซึ่งเป็นไข่เดี่ยวๆ รูปร่างกลม สีส้มเหลือง ขนาดประมาณหัวเข้มหมุด โดยตัวแก่ผีเสื้อกลางคืนวางไข่ตามยอดอ่อนหรือกลีบดอก ถ้าพบปริมาณไข่มากจะต้องฉีดยาภายใน 1 - 2 วัน สารเคมีที่ใช้เป็นประเภทถูกตัวตาย เช่น แลนเนท หรือ สารไพรีทรอยด์ และหมั่นเก็บผลที่ถูกหนอนเจาะทำลายออกจากแปลงนำมาเผาไฟ เพราะหนอนที่อยู่ในผลจะออกมาทำลายผลที่อยู่ในช่อเดียวกันต่อไปนี้ ทำให้เสียหายมากขึ้น

- การเก็บเกี่ยวผลสด

เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่ออายุประมาณ 55 วัน หลังจากย้ายกล้า โดยเก็บผลที่เริ่มเปลี่ยนสี เพื่อหลีกเลี่ยงผลแตกและผลสุกเกินไป

การเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกฤดูต่อไป

สามารถทำได้เมื่อพันธุ์ที่ปลูกไม่ใช่พันธุ์ ลูกผสม การเก็บเมล็ดพันธุ์ควรเลือกเก็บเมล็ดจากแปลงที่ปลูกในฤดูหนาวเท่านั้น และเลือกเก็บจากต้นที่สมบูรณ์แข้งแรง มีลักษณะผลตามที่ตลาดต้องการ จึงจะได้เมล็ดที่สมบูรณ์แข้งแรง มีเปอร์เซ็นต์ ความงอกสูง การผลิตเมล็ดพันธุ์สามารถทำได้ง่าย โดยเก็บเกี่ยวผลที่สุกแดงผ่าขวางผล บีบเมล็ดออก หมักทิ้งไว้ในภาชนะพลาสติก 24 - 36 ชั่วโมง นำไปล้างน้ำหลายๆครั้ง เมล็ดที่ดีจะจมลง เมล็ดที่ไม่สมบูรณ์จะลอย ปล่อยให้ไหลออกไป เมื่อเมล็ดสะอาดดีแล้วนำไปผึ่งแดดบนตะแกรง 2 - 3 วัน จนเมล็ดแห้งสนิทจึงบรรจุเมล็ดในถุงพลาสติกหนา หรือ ในกระป๋องที่ปิดสนิท แล้วนำไปเก็บไว้ในที่เย็น ซึ่งโดยวิธีการเช่นนี้สามารถเก็บเมล็ดได้นาน อย่างน้อย 2 - 3 ปี 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น