การเพาะปลูก การปลูกกระเทียม


การปลูกกระเทียม

การเพาะปลูก การปลูกกระเทียม




กระเทียมที่ใช้เป็นอาหารมีอยู่ 2 ประเภท คือ
1. กระเทียมต้น ไม่มีหัว ปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ เพื่อรับประทานลำต้นและใบเป็นพืชผักสดเท่านั้น

2. กระเทียมหัว ปลูกด้วยกลีบ หรือหัวพันธุ์ มีหลายพันธุ์ ซึ่งมาจากแหล่งต่าง ๆ กันมีอายุยาวนานกว่าประเภทแรก



พันธุ์ที่ใช้ปลูก

ภาคเหนือนิยมปลูกพันธุ์พื้นเมืองเชียงใหม่ เชียงรายและพม่า ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมปลูกพันธุ์พื้นเมืองศรีสะเกษ และภาคกลางนิยมปลูกพันธุ์บางช้าง และพันธุ์จีน หรือไต้หวัน

พันธุ์ที่ปลูกในบ้านเรา สามารถแบ่งได้ตามอายุการแก่เก็บเกี่ยวได้ ดังนี้

1. พันธุ์เบา หรือพันธุ์ขาวเมือง ลักษณะใบแหลม ลำต้นแข็ง กลีบเท่าหัวแม่มือ กลีบและหัวสีขาว มีกลิ่นฉุนและรสจัด อายุแก่เก็บเกี่ยวประมาณ 75-90 วัน เช่น พันธุ์พื้นเมือง ศรีสะเกษ เป็นต้น

2. พันธุ์กลาง ลักษณะใบเล็กและยาว ลำต้นใหญ่ และแข็ง หัวขนาดกลาง หัวและกลีบสีม่วง อายุแก่เก็บเกี่ยวประมาณ 90-120 วัน นิยมปลูกมากในภาคเหนือ เช่นพันธุ์พื้นเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น

3. พันธุ์หนัก ลักษณะใบกว้างและยาว ลำต้นเล็ก หัวใหญ่ กลีบโต เปลือกหุ้มสีชมพู น้ำหนักดี อายุแก่เก็บเกี่ยวประมาณ 150 วัน เช่น พันธุ์จีน หรือไต้หวัน เป็นต้น



แหล่งเพาะปลูก

กระเทียมสามารถเพาะปลูกได้เกือบทุกภาคของประเทศแต่เหมาะที่จะปลูกในแปลงที่เป็นดินร่วน หรือระบายน้ำได้ดีและมีอุณหภูมิอากาศค่อนข้างหนาวเย็น เป็นระยะเวลายาวนานหลายเดือน ดังนั้นบริเวณเพาะปลูกกระเทียมที่สำคัญของไทย ส่วนใหญ่จึงอยู่ทางภาคเหนือตอนบน ที่สำคัญได้แก่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง และอุตรดิตถ์ นอกจากนี้มีเพาะปลูกข้างทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์



ระยะเวลาเพาะปลูก

การเพาะปลูกกระเทียมส่วนใหญ่ จะปลูก 2 ช่วง คือ

1. เพาะปลูกช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ อายุประมาณ 75-90 วัน กระเทียมรุ่นนี้เรียกว่ากระเทียมดอ หรือกระเทียมเบา นิยมใช้ทำกระเทียมดอง ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน เพราะฝ่อเร็ว

2. เพาะปลูกช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม หลังการเก็บเกี่ยวข้าวและเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน อายุประมาณ 90-120 วัน เรียกว่ากระเทียมปี ใช้ทำกระเทียมแห้งเพราะสามารถเก็บไว้ได้นาน





การเตรียมดินปลูก

ดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกระเทียม ควรเป็นดินที่ร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี

ถ้าหากเป็นกรดจัดจะทำให้กระเทียมไม่เจริญ ควรใส่ปูนขาวก่อนปลูกอย่างน้อย 15 วัน เพื่อปรับดินให้เป็นกรดอ่อน ๆ (pH 5.5-6.8)

ก่อนไถควรหว่านปุ๋ยคอกก่อนประมาณ 4 ตันต่อไร ถ้าเป็นดินเหนียวควรใช้ไถบุกเบิกก่อนพรวน ถ้าเป็นดินร่วนใช้เฉพาะพรวนและยกแปลงเพื่อการให้น้ำและระบายน้ำได้ดี

การเตรียมดินดีจะช่วยให้กระเทียมลงหัวดี และควรเตรียมแปลงปลูกขนาดกว้าง 1 - 2.5 เมตร ความยาวตามพื้นที่ปลูกระยะห่างระหว่างแปลง (ทางเดินหรือร่องน้ำ) ควรกว้าง 50 ซม.



การปลูก

กระเทียมปลูกโดยใช้กลีบซึ่งประกอบเป็นหัว นิยมใช้กลีบนอกปลูก เนื่องจากกลีบนอกมีขนาดใหญ่ จะให้กระเทียมที่มีหัวใหญ่และผลผลิตสูง การนำกระเทียมไปปลูกในฤดูฝน จะทำให้กระเทียมงอกไม่พร้อมกัน โตไม่สม่ำเสมอกัน

ขนาดของกลีบจะมีอิทธิพลหรือความสำคัญ ต่อการลงหัวของกระเทียม จากการศึกษาพบว่าพันธุ์ที่มีกลีบใหญ่ ถ้าหากใช้กลีบขนาดกลางปลูกจะทำให้ผลผลิตสูง พันธุ์ที่มีกลีบขนาดเล็ก ถ้าใช้กลีบใหญ่ที่สุดปลูกจะให้ผลผลิตสูง

ปกติกลีบที่มีน้ำหนัก 2 กรัม จะให้ผลผลิตสูง

การปลูกอาจให้น้ำก่อน และใช้กลีบกระเทียมจิ้มลงไปโดยเอาส่วนรากลงลึกประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของกลีบ เป็นแถวตามระยะปลูกที่กำหนด ในพื้นที่ 1 ไร่ ต้องใช้หัวพันธุ์ 100 กก. หรือกลีบ 75-80 กก. ปลูกโดยใช้ระยะปลูก 10 x 10 -15 ซม. จะให้ผลผลิตสูงที่สุด สำหรับกระเทียมจีนใช้ระยะปลูก 12-12 ซม. และหัวพันธุ์ 300-350 กก.ต่อไร่ หลังปลูกจะใช้ฟางคลุมแปลงเพื่อควบคุมวัชพืช ที่จะมีขึ้นในระยะแรก เก็บความชื้นและลดความร้อนเวลากลางวัน



การให้น้ำ

ควรให้น้ำก่อนปลูก และหลังปลูกกระเทียมควรได้รับน้ำอย่างเพียงพอ และสม่ำเสมอในช่วงระหว่างเจริญเติบโต 7-10 วัน/ครั้ง สรุปแล้วจะให้น้ำประมาณ 10 ครั้ง/ฤดู ควรงดการให้น้ำเมื่อกระเทียมแก่จัด ก่อนเก็บเกี่ยว 2-3 สัปดาห์









การคลุมดิน

หลังปลูกกระเทียมควรคลุมดินด้วยฟางข้าวแห้ง เศษหญ้าแห้ง หรือเศษวัสดุที่สามารถผุพังเน่าเปื่อยอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อควบคุมวัชพืชที่จะมีขึ้นในระยะแรก รักษาความชื้นในดิน ประหยัดในการให้น้ำและลดอุณหภูมิลงในเวลากลางวัน ทำให้กระเทียมสามารถเจริญเติบโตได้ดี



การใส่ปุ๋ย

ปุ๋ยที่แนะนำให้ใช้สำหรับกระเทียมในบ้านเรา ควรมีส่วนของไนโตรเจนเท่ากับ 1 ส่วน ฟอสฟอรัส 1 ส่วน และโปแตสเซี่ยม 2 ส่วน เช่น ปุ๋ยสูตร 10-10-15, 13-13-21 เป็นต้น อัตราปริมาณ 50-100 กก./ไร่ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกใส่เป็นปุ๋ยรองพื้นตอนปลูก แล้วพรวนกลบลงในดิน ปริมาณครึ่งหนึ่งและใส่ครั้งที่ 2 ใส่แบบหว่านทั่วแปลง เมื่ออายุประมาณ 30 วันหลังปลูก ควรใช้ปุ๋ยเสริมไนโตรเจน เช่น ปุ๋ยยูเรีย แอมโมเนียมซัลเฟต เป็นต้น เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในระยะแรก อัตราประมาณ 25-30 กก./ไร่ เมื่ออายุประมาณ 10-14 วันหลังปลูก



การกำจัดวัชพืช

กระเทียมเป็นพืชที่มีรากตื้น ดังนั้นควรกำจัดวัชพืชในระยะที่วัชพืชเริ่มงอก ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ นอกจากจะแย่งน้ำอาหารและแสงแดดจากกระเทียมแล้ว เมื่อถอนจะทำให้รากของกระเทียมกระเทือนทำให้ชะงักการเจริญเติบโต หรือทำให้ต้นเหี่ยวตายได้ ฉะนั้นเมื่อวัชพืชมี ขนาดใหญ่ควรใช้มีดหรือเสียมมือเล็ก ๆ แซะวัชพืชออก

ส่วนสารเคมีกำจัดวัชพืชที่เกษตรกรในบ้านเรานิยมใช้กันมากคืออะลาคอร์ (ชื่อการค้า = แลสโซ่) อัตรา 0.36-.045 กก.ต่อไร่ (ของเนื้อยาบริสุทธิ์) โดยพ่นคุลมดินหลังปลูกก่อนที่กระเทียมและวัชพืชงอก นอกจากนี้ยังใช้ยาพาราควอซ์ (ชื่อการค้า = กรัมม๊อกโซน) พ่นตามร่องน้ำระหว่างแปลงทุกครั้งหลังจากให้น้ำ



http://www.it.mju.ac.th

ประโยชน์ของ การปลูกกระเทียม

กระเทียม เป็นอาหารหรือเครื่องเทศ โดยใช้ทั้งต้นเป็นอาหาร หัวกระเทียมสด-แห้ง และน้ำมันกระเทียมใช้ เป็นเครื่องเทศแต่งกลิ่นอาหาร เป็นอาหารเสริมสุขภาพ ใช้บำบัดอาการไอ หวัด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปวดฟัน ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย โรคความดันโลหิตสูง เส้นเลือดเปราะ ขับลม ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ขับประจำเดือน ขับพยาธิไส้เดือน ลดอาการอักเสบบวม ฆ่าเชื้อ แก้โรคผิวหนัง น้ำกัดเท้า เป็นยาฆ่าแมลง น้ำมันกระเทียมใช้ทาแก้แมลงกัดต่อย
วิธีการใช้กระเทียมเพื่อรักษาโรคต่างๆ
1.ใช้ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะและขับเสมหะ โดยใช้กระเทียมสดครึ่งกิโลกรัมทุบพอแตก แช่ในน้ำหวานหรือน้ำผึ้ง 1 ถ้วย ประมาณ 1 สัปดาห์ รับประทานครั้งละครึ่งช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง
2.ใช้ขับลมในกระเพาะอาหาร แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ โดยใช้กระเทียมสด 5-7 กลีบ บดให้ละเอียดผสมกับน้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ เติมน้ำตาลและเกลือเล็กน้อย กรองเอาแต่น้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง หลังรับประทานอาหาร
3.ใช้รักษาแผลสด แผลเป็นหนอง โดยใช้กระเทียมสดปอกเปลือก นำมาทุบหรือฝานทาในบริเวณที่เป็นแผล
4.ใช้รักษาโรคผิวหนังที่เกี่ยวกับเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า เชื้อราในช่องคลอด โดยใช้น้ำที่คั้นจากกระเทียมสดทาบริเวณที่เป็น
5.ลดอาการปวดฟันจากฟันผุ โดยใช้กระเทียมสดสับละเอียดอุดฟันที่ผุ
6.ใช้รักษาอาการปวดหู หูอื้อ หูตึง โดยใช้น้ำกระเทียมหยอดหูประมาณ 1-2 หยด วันละ 3-4 ครั้ง
7.ขับพยาธิ โดยนำรากกระเทียมผสมกับน้ำนมหรือกะทิสด คั้นเอาน้ำรับประทาน
8.แก้ปวดหัวหรือไมเกรน โดยการนำเอามาประกอบอาหาร หรือรับประทานสดครั้งละ 10 กลีบทุกวัน (ต้องรับประทานทุกวันต่อเนื่องกัน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น